กฎที่ 1: ขออนุญาตก่อน ถ่ายใครก็ต้องถาม

เรื่องของความยินยอม (Consent) เป็นข้อที่ต้องให้ความสำคัญมาก การถ่ายภาพนิ่ง หรือวิดีโอติดบุคคลอื่นเพื่อนำไปเผยแพร่ หรือใช้ในเชิงพาณิชย์ จะต้องดำเนินการขอความยินยอมจะโดยทางวาจา หรือเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของข้อมูลก่อน หากไม่ทำแล้วนำไปเผยแพร่ จนเกิดการฟ้องร้องจะมีความผิดทั้งทางแพ่ง ความผิดทางอาญา และโทษทางปกครองรวมเป็น 3 เด้ง!

กฎที่ 2: เบลอให้มิดชิด ป้องกันการละเมิด

ปกปิดข้อมูลส่วนบุคคลที่เจ้าของข้อมูลไม่อนุญาตให้เปิดเผย ซึ่งโดยพื้นฐานทางจรรยาบรรณของนักสร้างสรรค์คอนเทนท์ที่มีคุณภาพ ข้อมูลส่วนบุคคลใดที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดเผย เช่น ใบหน้า ทะเบียนรถ หรือข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ ที่เขาไม่อยากให้เผยแพร่ ควรจะต้องเบลอ ภาพ หรือข้อมูลนั้นเพื่อป้องกันผลกระทบกับเจ้าของข้อมูล

กฎที่ 3: แจ้งให้ทราบ มีป้ายแจ้งเตือน

การถ่ายภาพนิ่ง หรือวิดีโอเพื่อนำข้อมูลดังกล่าวไปเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ตหรือสื่อสาธารณะ ควรมีป้าย ‘PDPA Notice’ บอกวัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้คนที่อยู่ในบริเวณนั้นรับทราบ และมีสิทธิที่จะขอให้คุณลบข้อมูลของเขาได้

กฎที่ 4: พร้อมลบเมื่อถูกร้องขอ

คำนึงถึงสิทธิของเจ้าของข้อมูลเสมอ หากเจ้าของข้อมูลขอให้ลบภาพหรือวิดีโอที่เกี่ยวข้องกับพวกเขา ต้องดำเนินการลบโดยทันที ไม่ว่าจะเผยแพร่ไปแล้วหรือยัง เว้นแต่ข้อมูลนั้นเป็นการดำเนินการโดยชอบตามกฎหมาย หรือเป็นประโยชน์โดยชอบธรรมของเจ้าของช่อง

กฎที่ 5: เก็บให้น้อยที่สุด ลบเมื่อไม่จำเป็น

เก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น และเก็บไว้นานเท่าที่จำเป็น เมื่อไม่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลอีกแล้ว ควรลบทิ้งหรือทำให้ข้อมูลไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้ เช่น การเบลอหน้าหรือปกปิดข้อมูลส่วนบุคคลอื่นๆ

กฎที่ 6: ระวัง ข้อมูลส่วนบุคคลอ่อนไหว

ระวังข้อมูลละเอียดอ่อน ข้อมูลส่วนบุคคลอ่อนไหว (Sensitive Personal Data) เช่น สุขภาพ ศาสนา หรือประวัติอาชญากรรม ถือเป็นข้อมูลที่อ่อนไหว ต้องระมัดระวังในการเก็บและเผยแพร่เป็นพิเศษ สำหรับข้อมูลประเภทนี้ อาจต้องมีการขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลในการเก็บรวบรวม นำไปใช้ หรือเปิดเผย

กฎที่ 7: อย่าลืมเรื่อง โซเชียลมีเดียกับข้อมูลส่วนบุคคล

กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) กำหนดให้การเปิดเผยข้อมูลต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลก่อน ยกเว้นในกรณีที่มีเหตุผลอันควร เช่น เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือเพื่อปฏิบัติตามหน้าที่ตามกฎหมาย แต่ทั้งหมดทั้งมวลจะดูที่ ‘เจตนา’ และการตีความตามกฎหมายเป็นพื้นฐาน รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นภายหลังจากนั้นแล้ว

การสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่น่าสนใจเป็นเรื่องสำคัญ แต่การปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ก็สำคัญไม่แพ้กัน การศึกษาและปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้ไม่เพียงแต่เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม การคุ้มครองและเคารพสิทธิของเจ้าของข้อมูล และยังช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ ภาพลักษณ์ที่ดีให้กับผลงานของคุณอีกด้วย

error: Content is protected !!